logo

นวัตกรรมต้นแบบ “เครื่องเขี่ยไข่ปูอัตโนมัติ” วิจัยโดย ผศ.ดร.ประชิด สระโมฬี หลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โชว์ต้นแบบ “เครื่องเขี่ยไข่ปูอัตโนมัติ” เนื่องในโอกาส ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการธนาคารปูม้า “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ณ ศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคณะผู้บริหารจาก วช. ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วยนักวิจัยในโครงการ ให้การต้อนรับ

ศูนย์เรียนธนาคารปูม้าบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการฯ ที่ วช.ให้การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม และเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ “การถ่ายทอดและขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อยกระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนตามแนวทาง BCG Economy ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหัวหน้าโครงการ

ในโอกาสการมาเยือนของรัฐมนตรีอว.ในครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้โชว์นวัตกรรมต้นแบบ “เครื่องเขี่ยไข่ปูอัตโนมัติ” ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร. ประชิด สระโมฬี จากหลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์์ อาจารย์ ประชิด ทำการพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 7 เดือน โดยสาเหตุมาจาก ในช่วงฤดูที่มีปูไข่จำนวนมาก แพปูใช้แรงงานคนเขี่ยไม่ทัน จึงคิดพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องต้นแบบเพื่อช่วยทุ่นแรง โดยได้รับการสนับสนุนของวช.และเป็นโครงการย่อยของโครงการธนาคารปูม้า

เครื่องนี้ทำงานโดยส่วนควบคุมที่มีลักษณะเป็นตู้ 4 เหลี่ยมถูกตั้งโปรแกรมควบคุมให้แปรงพอลิเมอร์ 2 ชิ้นหมุนเขี่ยไข่ปู ซึ่งแกนแปรงจะเคลื่อนไหวแบบ 3 แกน ( X Y Z) หรือซ้าย-ขวา หน้า-หลังและขึ้นลง โดยสามารถช่วยเขี่ยได้ครั้งละ 24 ตัว และมีระบบน้ำฉีดให้ไหลออกตามท่อลงถัง เพื่อนำไข่ไปอนุบาล ก่อนปล่อยลงสู่ทะเลธรรมชาติต่อไป

ทั้งนี้ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วช. กรมประมง และหน่วยงานความร่วมมือ ได้มีการขยายผลธนาคารปูม้าไปแล้ว จำนวน 543 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง 20 จังหวัดของประเทศไทย ซึ่งได้ส่งผลดีเป็นอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในปี2562 ที่เริ่มดำเนินงาน จับปูได้เพิ่มขึ้น 20% ปัจจุบันปริมาณปูม้าทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1-4 เท่า คาดว่า ใน 1-2 ปีจะจับได้มาก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี

และเมื่อมิถุนายน 2563 ธนาคารปูม้า 500 แห่งได้ปล่อยแม่ปูม้าไปจำนวน 271,500 ตัว ซึ่งโอกาสรอดแม้ต่ำเพียง 0.1% แต่จะได้ลูกปูประมาณ 50,000 ตัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 16,000 ล้านบาทต่อเดือน

 

ขอขอบคุณ แหล่งที่มาข่าวและภาพข่าวจาก hilightDD เดินหน้าฉับไวไทยแลนด์ 4.0

(Link: http://www.hilightdd.com/news/3049)

เรียบเรียงโดย ดร.เกศรา เสนีย์ศรีสกุล

Facebook Comments Box