logo

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลรุ่นใหม่ของประเทศไทยที่มีผลงานวิจัยทางด้านทรัพยากรทางทะเลที่โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรปูม้า ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี เป็นศิษย์เก่า รุ่นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจากโรงเรียนทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จากนั้นได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ได้รับทุนพัฒนาอาจารย์สาขาขาดแคลน จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังสำเร็จการศึกษาได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้รับตำแหน่งทางวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตรจารย์ทางด้านชีววิทยาประมง หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ได้ 5 ปี ก่อนจะได้รับทุนรัฐบาล (กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ประเภทพัฒนาบุคลากรของรัฐ ตามความต้องการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล (ocean and earth science) ที่มหาวิทยาลัย Southampton ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ เล่าว่า ในช่วงที่ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ได้ทำงานวิจัยเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรหอยนางรมชนิดพันธุ์พื้นเมืองของยุโรป (Ostrea edulis) ที่กำลังจะสูญพันธุ์ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก Natural England จากผลการศึกษาพบว่า หอยนางรมที่อาศัยอยู่บน artificial reefs มีสุขภาพที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับหอยนางรมที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ทะเล ทั้งในเชิง Physiological and immune performance ที่สำคัญพบหลักฐานการเกาะของลูกหอยนางรมขนาดเล็กในบริเวณแนวหอยเทียม อันเป็นดัชนีชี้ถึงความสำเร็จในการฟื้นฟูหอยนางรมสายพันธุ์ยุโรป พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรหอยนางรม โดยการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัย (habitat restoration) ด้วยวิธีการสร้างแนวหอยเทียมแบบยกระดับจากพื้นท้องทะเล (elevated artificial oyster reefs) ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสในกระบวนการสืบพันธุ์เพื่อเพิ่มประชากร ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ ได้รับโล่รางวัลผลงานทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมดีเยี่ยม (annual award for academic excellence 2015 : environment) สำหรับนักศึกษาปริญญาเอกในประเทศสหราชอาณาจักร จากสมาคม Anglo-Thai Society และสถานฑูตไทยในประเทศสหราชอาณาจักร

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และมีความเชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาชีววิทยาประมง พลวัตประชากรสัตว์น้ำ การฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะทรัพยากรประมง และการจัดการทรัพยากรประมง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ ได้นำความรู้ต่างๆ มาประยุกต์เพื่อใช้แก้ปัญหาและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนในประเทศ รวมทั้งเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูปูม้า ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ปัจจุบันนี้ปูม้าและสัตว์น้ำอื่นๆ ในธรรมชาติลดลงเป็นอย่างมาก โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูปูม้า จำนวน 3 โครงการ ซึ่งเน้นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า เพื่อตอบโจทย์แผนแม่บทการบริหารจัดการปูม้าของประเทศไทยตามแนวทางการจัดการปูม้าที่ได้รับมาตรฐานของสากลประเทศ เพื่อลดการกีดกันทางการค้าและเพิ่มผลผลิตปูม้าในธรรมชาติ รวมถึงการวางแผนการฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับตัวทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมเป็นเงินวิจัยมากกว่า 6,000,000 บาท จากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้ประกอบการเอกชน ได้แก่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน แสดงให้เห็นถึงการมีเครือข่ายการวิจัยที่เข้มแข็งทั้งทางภาครัฐ และผู้ประกอบการเอกชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ ยังได้เชื่อมโยงงานวิจัยสู่การบริการวิชาการ เพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “เป็นหลักในถิ่น” เนื่องจากชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยมีระดับการพึ่งพิงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นในระดับสูง การที่มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยแก้ปัญหาและให้ความรู้ความเข้าใจทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกับชุมชน จึงเป็นการสนองตอบต่อวิสัยทัศน์และตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ เช่น“โครงการธนาคารปูม้า” ในบริเวณบ้านในถุ้ง อำเภอท่าศาลา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพในการฟื้นฟูปูม้าให้กับชุมชน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชุมชน สามารถสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการปัญหาการประมงบริเวณบ้านตนเอง ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทำให้กลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านอำเภอท่าศาลา เป็นพื้นที่ต้นแบบที่ได้รับความสนใจจากสถานีโทรทัศน์มาถ่ายทำรายการ รวมทั้งชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาศึกษาดูงานอีกด้วย ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการเป็น “หลักในถิ่น” ให้กับชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ มีผลงานวิชาการที่หลากหลาย โดยเป็นเอกสารตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและประชุมวิชาการนานาชาติ จำนวน 8 เรื่อง ระดับชาติ 9 เรื่อง รวมทั้งหนังสือ ตำรา บทความวิชาการอีกด้วย ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจากอธิบดีกรมประมงเป็นคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการพิจารณาพื้นที่หลบภัยสัตว์น้ำเพื่อการประมงที่ยั่งยืนของประเทศไทย (Fishery refugia in the South China Sea and Gulf of Thailand) ทั้งยังได้รับเชิญเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อแก้ปัญหาการประมงของประเทศ ซึ่งโครงการวิจัยบางส่วนของอาจารย์ที่ทำอยู่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการทำการประมง และการลดลงของทรัพยากรประมง อันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โครงการฟื้นฟูปูม้าอ่าวบ้านดอนเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยประเทศไทยในการตอบคำถามต่างประเทศ ในส่วนของการพัฒนาทางการประมง (Fishery improvement programme) เพื่อลดการกีดกันทางการค้าผลิตภัณฑ์ประมง นอกจากนี้ยังเป็นผู้อ่าน (Reviewer) พิจารณาบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสารตีพิมพ์นานาชาติ (ISI) อาทิ Crustaceana, Journal of the Marine Biological Association of the UK, Asian Fisheries Society และมีประสบการณ์ในการอ่านพิจารณาบทความตีพิมพ์ในระดับชาติ (TCI, Scopus) เช่น Walailak Journal of Science and Technology, Kasetsart Journal of Natural Science, Kasetsart University Fisheries Research Bulletin, วารสารวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ของ สกว., วารสารเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวารสารวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นต้น ทั้งนี้ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ได้รับโล่รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ด้านผลงานทางวิชาการและนวัตกรรม

ในฐานะศิษย์เก่าและอาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ ได้เล่าถึงการเรียนการสอนในหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ด้านหลังติดกับเทือกเขาหลวง ด้านหน้าติดกับทะเลฝั่งอ่าวไทย ทั้งยังอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติต่างๆ ดังนั้นบรรยากาศรายรอบมหาวิทยาลัยจึงเหมาะแก่การเรียนการสอนทางด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เน้นเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประกอบการเรียนการสอน เช่น ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เทคนิคการแปลภาพถ่ายทางอากาศ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีในการสำรวจทางทะเลและทักษะการดำน้ำแบบ Scuba เป็นต้น ตรงกับยุคสมัยที่ต้องนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนประกอบช่วยเหลือให้การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทันต่อเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังเน้นการปฏิบัติเพื่อเพิ่มทักษะ รวมทั้งการศึกษาภาคสนามในพื้นที่จริง จึงทำให้หลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหลักสูตรหนึ่งที่นักเรียนในยุค Thailand 4.0 น่าจะให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

จากความผูกพันและความชอบทางด้านทรัพยากรทางทะเลตั้งแต่เป็นนักศึกษารุ่นแรกจนถึงปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ตั้งเป้าหมายที่สำคัญของชีวิตการทำงาน คือ การผลิตบัณฑิตหรือนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่มีคุณภาพให้กับประเทศ การบริการวิชาการให้กับชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เผยแพร่องค์ความรู้จากการวิจัยในวารสารต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และย่อยผลลัพธ์จากการวิจัยพัฒนาต่อยอดสู่การบริการวิชาการ และนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ ดังนั้น งานวิจัยที่สนใจในอนาคตจึงยังคงเป็นเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมคือพื้นฐานของการพัฒนาทุกมิติของประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้ง Sustainable development goals และ Thailand 4.0 ต่างให้ความสำคัญของการฟื้นฟูและจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีใช้อย่างยั่งยืน

ในตอนท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ยังได้ฝากถึงนักเรียนที่สนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล ว่า ขอให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นทางเลือกหนึ่งของการเรียนทางด้านนี้ เพราะนักศึกษาทุกคนจะมีโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและการวิจัยจากอาจารย์ที่มีคุณภาพและประสบการณ์ตรง ทำให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถสำเร็จการศึกษาเป็นนักวิชาการทางทะเลที่มีคุณภาพของประเทศไทย

ที่มา : มหาวิยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box