logo

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอนุสิทธิบัตร เรื่อง เครื่องหมุนท่อนซุงไม้ยางพาราเพื่อวางแนวแกนไม้อัตโนมัติ

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับ รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และคุณวัชรินทร์ คงสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้รับได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอนุสิทธิบัตร เรื่อง เครื่องหมุนท่อนซุงไม้ยางพาราเพื่อวางแนวแกนไม้อัตโนมัติ ในวันที่ 10 มีนาคม 2566

ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวประดิษฐ์ขึ้นเพื่อช่วยจำกัดให้แกนไม้อยู่ภายในแผ่นไม้เพียงแผ่นเดียวที่อยู่ด้านกลางของท่อนซุง ได้แผ่นไม้ที่มีหน้ากว้างและจำนวนแผ่นมากที่สุด อีกทั้งผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญในการแปรรูปไม้ก็สามารถใช้งานเครื่องได้

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี นักวิจัย มวล.จากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วิจัยและพัฒนาระบบตรวจจับแกนไม้บนภาพหน้าตัดท่อนซุงไม้ยางพารา โดยใช้เทคนิคโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึก เพื่อเชื่อมต่อกับระบบในโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ช่วยลดปริมาณการสูญเสียไม้ยางพาราจากการอบ จากกระบวนการตัดไม้ที่ติดแกนหรือไส้ไม้ได้เป็นจำนวนมาก

การแปรรูปไม้ยางพาราของประเทศไทยในปัจจุบันต้องใช้แรงงานมนุษย์ที่เรียกว่า นายม้า และ หางม้า เป็นผู้ควบคุมสังเกตแกนไม้เข้าสู่เครื่องจักรเพื่อตัดผ่าเป็นไม้แผ่น จึงต้องอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางด้านนี้ อีกทั้งลักษณะของไม้ยางพาราที่ไส้ไม้หรือแกนไม้มีลักษณะ คดงอ ไม่ตรงกัน เมื่อนายม้าและหางม้าเป็นผู้ควบคุมการตัด ทำให้ได้แผ่นไม้ที่ติดแกนไม้มากกว่าปกติ เมื่อนำไม้เหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการอบ แกนไม้จะแตกออกมาจากเนื้อไม้ ทำให้ไม้ท่อนแผ่นนั้นเสียมูลค่าหรือขายไม่ได้ ต้องนำกลับไปเผาเพื่อสร้างระบบบอยเลอร์ใหม่ ในขณะที่คุณภาพและมูลค่าของไม้ค่อนข้างสูง ปัจจุบันมีไม้ที่เสียหายจากการตัดติดแกนและการอบลักษณะนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 500,000 บาท/เดือน หรือกว่า 6 ล้านบาท/ปี

ไม้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ไม้ปาร์เก้ และของเล่นเด็ก รวมทั้งการส่งออกในรูปท่อนซุงและไม้แปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทยที่สามารถส่งออกได้โดยไม่จำกัดปริมาณมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การส่งออกไม้ยางพาราทำรายได้ให้กับประเทศมากถึงหลายหมื่นล้านบาท แต่ก็ในกระบวนการเลื่อยไม้ซุงอาจมีความผิดพลาดในการเลื่อยติดไส้ไม้ซึ่งทำให้ไม้แผ่นนั้นไม่มีคุณภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี และคณะวิจัยจึงมีแนวคิดการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาแก้ปัญหานี้

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี
รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี

Facebook Comments Box