logo
รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอนุสิทธิบัตร

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอนุสิทธิบัตร เรื่อง “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า”

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับ รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ได้รับการจดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอนุสิทธิบัตร เรื่อง “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” นวัตกรรมที่ช่วยลดพฤติกรรมการนำมือมาสัมผัสใบหน้าของผู้ใช้งานและลดความเสี่ยง ในการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก และตา โดยอุปกรณ์นี้สามารถพกพาและทำงานได้โดยอิสระ

ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและอยู่ในระดับที่ไม่น่าไว้วางใจ หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างระดมกำลังเพื่อคิดค้นวิจัยสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ นำไปใช้แก้ปัญหาและป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ดังนี้ การออกแบบและจัดสร้างระบบควบคุมและเครื่องมือสนับสนุนงานวิจัยโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์/ไมโครโปรเซสเซอร์ การออกแบบและสร้างระบบโดยใช้ชิพกลุ่ม FPGA/CPLD โดยใช้ภาษา VHDL การพัฒนากระบวนวิธีทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในการสังเคราะห์ภาพพื้นฐานและภาพโครงสร้างแบบ CSG (Rendering Algorithms) การพัฒนากระบวนวิธีทางคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในงานการควบคุมระบบโดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Process Control) การจำลองการทำงานของหุ่นยนต์โดยใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ Computer Interfacing เป็นต้น โดยอาจารย์ได้กล่าวถึงที่มาที่ไปในการประดิษฐ์ “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” ว่า ช่องทางหลักในการรับเชื้อโรคทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย คือ จมูก ปาก และตา โดยทั่วไปแล้วเชื้อโรคจะผ่านเข้าสู่ช่องทางเหล่านี้ด้วยการสัมผัสจากฝ่ามือทั้งเกิดจากความตั้งใจและเกิดจากความพลั้งเผลอ สาเหตุนี้จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรม “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” ขึ้น โดยอุปกรณ์นี้มีการประมวลผลการเคลื่อนที่ของมือเข้าสู่บริเวณใบหน้า และมีการส่งเสียงเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทราบ การแจ้งเตือนนี้ส่งผลในการลดพฤติกรรมการนำมือมาสัมผัสใบหน้าของผู้ใช้งานและลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปาก และตา โดยอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้สามารถพกพาและทำงานได้โดยอิสระ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ไม่พึ่งพาคอมพิวเตอร์ในการประมวลผล ไม่ใช้กล้องวิดีโอในการจับภาพ รองรับกับการติดตั้งเพื่อใช้งานกับผู้ใช้งานได้หลากหลายช่วงวัย และหลากหลายรูปแบบของการทำกิจกรรม

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี
รศ.ดร.วัฒนพงศ์ เกิดทองมี

สำหรับหลักการทำงานของ “อุปกรณ์เตือนการนำมือมาสัมผัสใบหน้า” จะมีการประมวลผลเพื่ออ่านระยะห่างของวัตถุที่เคลื่อนที่เข้ามาบริเวณใบหน้า โดยผ่านทางตัวตรวจวัดระยะห่างของวัตถุด้วยคลื่นอินฟราเรด ผลจากการประมวลผลที่บ่งบอกถึงการเคลื่อนที่ของมือเข้าใกล้ใบหน้าจะนำไปสู่การเปล่งเสียงเตือนผ่านลำโพงขนาดเล็ก ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้งานลดหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าลง และส่งผลในการตัดวงจรการรับเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านสัมผัสด้วยมือผ่านทางจมูก ปาก และตา

ขอบคุณข้อมูลจาก อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box