logo

คณาจารย์สาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ส.วิศวะฯ ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ลัยวลัยลักษณ์ จัดกิจกรรมนำความรู้สู่สังคมและอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะ “หลักสูตรนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำยางพารา” เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางพารา มีองค์ความรู้และทักษะการปฏิบัติเกี่ยวกับการแปรรูปน้ำยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน โดยมีเกษตรกร ผู้ประกอบการน้ำยางพารา จาก 15 สถานประกอบการเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 2 อาคารปฎิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มุ่งส่งเสริมการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีนักวิจัยที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้น เช่น หน่วยวิจัยด้านปิโตรเคมีและพอลิมอร์ ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประชิด สระโมฬี อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยวิจัยหนึ่งที่สร้างผลงานนวัตกรรมมากมาย เช่น ปืนยางนักเรียนตำรวจ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐหลายที่ซื้อไปใช้งานแล้ว เช่น กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, ศูนย์ฝึกอบรมภูธรภาค 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้ประดิษฐ์ถ้วยยางป้องกันการสัมผัสลูกบิด ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจในการลดการติดเชื้อไวรัส Covid-19 ผลงานเหล่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถของนักวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำยางพาราได้เป็นอย่างดี ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมการพัฒนาทักษะในหลักสูตร “นวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำยางพารา” ในวันนี้ จะได้รับความรู้และพัฒนาทักษะในด้านการแปรรูปน้ำยางพาราได้อย่างเต็มที่”

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุรักษ์ ถุงทอง ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนบน ผ่านการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ให้เกิดการนำไปใช้ในภาคอุตสหกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการ ผ่านบริการต่างๆ อาทิ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย ศูนย์นวัตกรรมการออกแบบ สวนอุตสาหกรรมวิจัย ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญากิจกรรมในวันนี้เป็นการขยายและถ่ายทอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ แต่เนื่องจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้ยางพาราลดลง และยางพาราล้นตลาด ส่งผลให้ราคายางตกต่ำ การแปรรูปน้ำยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางพารา มีองค์ความรู้ ทักษะการปฏิบัติเกี่ยวกับการแปรรูปที่เหมาะสม สามารถผลิต ผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของประเทศต่อไป”

       กิจกรรมอบรมการพัฒนาทักษะ “หลักสูตรนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำยางพารา” ในครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประชิต สระโมพี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุฤกษ์ คงทอง และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพารา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาทักษะในครั้งนี้ อีกหนึ่งกิจกรรมในการนำความรู้ทางวิชาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและอุตสาหกรรมของหลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์
        โดย ผศ.ดร.ประชิด สระโมฬี และ ผศ.ดร.สุฤกษ์ คงทอง อาจารย์ประจำสาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี นักวิจัยภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ ร่วมกับศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะ “หลักสูตรนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปน้ำยางพารา” เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางพารา มีองค์ความรู้และทักษะการปฏิบัติเกี่ยวกับการแปรรูปน้ำยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ

ขอบคุณข้อมูล จากนางสาวชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร

Facebook Comments Box