logo

ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์หลักสูตรวิศวกรรมโยธา คว้ารางวัลจากโครงการ STSP Innovation Awards 2020

ผลงานนวัตกรรมระบบผนังคอมโพสิตแบบรังผึ้งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (ร่วม) จากการส่งผลงานเข้าร่วมประกวด “โครงการ STSP Innovation Awards 2020” ประเภทนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ระดับภาคใต้ โดยได้รับเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศนียบัตร โดยโครงการนี้มีอาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธาเป็นหัวหน้าโครงการ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ และ ผู้ร่วมวิจัย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วริษฐ์ วิปุลานุสาสน์ 

ระบบผนังคอมโพสิตแบบรังผึ้งจะประกอบไปด้วยแผ่นประกบทำด้วยวัสดุซีเมนต์บอร์ด ชนิด Calcium Silicate Board ซึ่งมีคุณสมบัติต้านแรงดัด และมีคุณสมบัติทนไฟ เป็นฉนวนกันความร้อน และกันความชื้น  และแกนกลางจะประกอบไปด้วยวัสดุสองชนิดคือ แผ่นโพมชนิดไม่ลามไฟ ประเภท Expanded Polystyrene (EPS) มีความเป็นฉนวนสูง คือมีค่าฉนวนป้องกันความร้อน Thermal resistance หรือ R value ประมาณ 0.661 m2.k/w และคอนกรีตมวลเบา (Light weight Foamed Concrete) ซึ่งจะมีคุณสมบัติไม่กักเก็บความร้อนจากภายนอก การดูดซับเสียงที่ดี ป้องกันการลามไฟ และความต่อเนื่องของคอนกรีตมวลเบาที่มีเม็ดโฟมเป็นส่วนประกอบในลักษณะรังผึ้งจากการออกแบบทางวิศวกรรม ทำให้มีความสามารถรับแรงแนวราบและแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะนี้ได้ยื่นคำขอรับอนุสิทธิบัตร เลขที่ “2003001173 ผนังคอมโพสิตแบบรังผึ้ง”  นวัตกรรมการก่อสร้างระบบผนังคอมโพสิตแบบรังผึ้งที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ มีคุณสมบัติที่ดีกว่าผนังก่ออิฐแบบดั้งเดิม โดยมีน้ำหนักของผนังรวมที่เบากว่า และก่อสร้างได้เร็วกว่า โดยมีขนาดมาตรฐานกว้าง 120 ซม. สูง 240 ซม. หนา 10 ซม.  จึงสามารถขนย้ายในสถานที่จำกัด เช่น ลิฟท์ในอาคารสูง และสามารถยกติดตั้งได้โดยใช้แรงงานเพียงหนึ่งคน เนื่องจากมีน้ำหนักที่เบา ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อแผ่น และจากการใช้แผ่นซีเมนต์บอร์ดประกบทั้งสองด้านทำให้ไม่เสียเวลาฉาบปูน ได้งานที่เรียบร้อยกว่า สวยงาม และมั่นคงแข็งแรง

ผู้เรียบเรียง: ผศ.ดร. วริษฐ์ วิปุลานุสาสน์

ขอขอบคุณภาพจาก อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box