logo

ผศ.ดร.นิรัติศัย รักมาก ลงพื้นที่บริการวิชาการชุมชนภายใต้หัวข้อ การพัฒนากระบวนหมักน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในระดับชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพ และความปลอดภัย ณ เทศบาลเมืองปากพูน นครศรีธรรมราช

         เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 – 11.20 น. ณ เทศบาลเมืองปากพูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรัติศัย รักมาก จากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินโครงการร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าว ตำบลปากพูน และกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าวสวนแม่ทองพริ้ง ภายใต้การเอื้ออำนวยของเทศบาลเมืองปากพูน โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในชุมชน โดยดำเนินการศึกษาพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นจากพื้นฐานองค์ความรู้และงานวิจัยมาใช้ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 1 กรกฎาคม 2566

       โครงการการพัฒนากระบวนหมักน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในระดับชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพ และความปลอดภัย เป็นโครงการที่ได้รับทุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน (Tech transfer to Community) จากกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

       ผลการดำเนินโครงการพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าวสวนแม่ทองพริ้งได้รับการพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการสกัดน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารและมีความปลอดภัย การพัฒนากระบวนหมักน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในระดับชุมชนสามารถลดระยะเวลาการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นของวิสาหกิจชุมชนศูนย์การเรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าวสวนแม่ทองพริ้ง จาก 48 ชั่วโมง เหลือเพียง 36 ชั่วโมง รวมทั้งยังลดระยะเวลาในขั้นตอนการกรองให้น้ำมันมะพร้าวใส จาก 12 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง ใน 1 รอบการผลิต ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสามารถเพิ่มรอบการผลิตได้มากขึ้น และด้วยกระบวนการดังกล่าวยังช่วยเพิ่มร้อยละการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 40-50 ต่อ 1 รอบการผลิต นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นที่ผลิตได้ยังมีคุณค่าทางอาหาร มีกลิ่นหอม และมีคุณภาพมากขึ้น โดยมีค่าเปอร์ออกไซด์และไอโอดีนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 57 (พ.ศ.2524)

 

Facebook Comments Box