logo
วิดวะ ม.วลัยลักษณ์ เจ๋ง!!! พัฒนาฟอนต์ไทย ประหยัดหมึกพิมพ์ได้ 30%

อาจารย์วิดวะฯ ม.วลัยลักษณ์ เจ๋ง!!! พัฒนาฟอนต์ไทย ประหยัดหมึกพิมพ์ได้ 30%

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธา และ ดร.ชิระวัฒน์ วัฒนพานิช อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ และจดลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งได้ออกแบบชุดตัวอักษรไทยประหยัดพลังงาน Thai Eco font ด้วยการลดปริมาณพื้นที่ภายในตัวอักษร พบสามารถประหยัดมากถึงร้อยละ 30 และคงความคมชัดไว้ได้ไม่แตกต่างจากเดิม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ
ดร.ชิระวัฒน์ วัฒนพานิช

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ อาจารย์สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานราชการต่างๆ ในประเทศไทยมีการใช้ฟอนต์ TH Sarabun กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งในแต่ละปีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อหมึกพิมพ์จำนวนมาก ตนพร้อมด้วย ดร.ชิระวัฒน์ วัฒนพานิช และทีมนักวิจัยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. จึงเกิดแนวคิดในการออกแบบชุดตัวอักษรไทยประหยัดพลังงาน (Thai Eco font) ทำอย่างไรเพื่อลดการใช้หมึกพิมพ์ให้ได้มากที่สุดแต่ยังคงความคมชัดของตัวอักษรไว้ได้เช่นเดิม

ทีมวิจัยจึงได้ร่วมกันพัฒนาและออกแบบชุดตัวอักษรไทยประหยัดพลังงาน (TH Imjai-Ecofont) โดยได้นำฟอนต์ที่ใช้ในงานราชการ คือ TH Sarabun มาพัฒนาและออกแบบพร้อมกับทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดหมึกพิมพ์ โดยการออกแบบการลดขนาดพื้นที่ภายในชิ้นส่วนย่อยๆ ในแต่ละตัวอักษร และทำการวิเคราะห์เพื่อลดปริมาณ Black Pixel ลงให้ได้มากที่สุดโดยวิธีประมวลผลภาพถ่าย แต่ยังความคมชัดที่ขนาดตัวอักษรในงานเอกสารทั่วไป ซึ่งผลการทดสอบพบว่า Thai Eco font สามารถประหยัดหมึกพิมพ์ได้ร้อยละ 30 ที่สำคัญยังคงความคมชัดโดยที่ผู้อ่านไม่สามารถสังเกตเห็นการลดลงของพื้นที่ภายใน ที่ขนาดตัวอักษรสูงสุดเท่ากับ 18 pt และได้เปรียบเทียบกับอักษรโรมัน ซึ่งผลการวิจัยได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารนานาชาติ

พัฒนาฟอนต์ไทย ประหยัดหมึกพิมพ์ได้ 30%
พัฒนาฟอนต์ไทย ประหยัดหมึกพิมพ์ได้ 30%

“ในการวิจัยนี้การทดสอบประสิทธิภาพการประหยัดหมึกพิมพ์ได้ใช้โปรแกรม Apfill สำหรับวิเคราะห์ปริมาณหมึกในการพิมพ์ในหน้ากระดาษแต่ละประเภทตัวอักษร เพื่อวิเคราะห์ปริมาณหมึกของกระดาษขนาด A4 (80แกรม) พิมพ์เฉพาะตัวอักษรเต็มหน้า ใช้ฟอนต์ TH Sarabun และ Eco font และสแกนความละเอียดสูง 300 dpi พบว่ากระดาษที่ใช้ฟอนต์ Thai Eco font สามารถประหยัดหมึกได้ร้อยละ 30” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ กล่าวไว้

และ ได้กล่าวต่อไปอีกว่า ขณะนี้ทีมวิจัยได้ทำการจดทะเบียนลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว และได้พัฒนารูปแบบตัวอักษร Thai Eco font รุ่น 1.0 ให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรี จำนวน 1 รูปแบบ ทั้งนี้ฟอนต์ดังกล่าวถือเป็นทางเลือกในการประหยัดวัสดุสิ้นเปลืองประเภทหมึกพิมพ์ในหน่วยงานได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจากส่วนสื่อสารองค์กร

Facebook Comments Box