logo

ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา 1 ใน 5 ตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุม GYSS ประจำปี 2560

อาจารย์ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมเคมีและกระบวนการ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็น 1 ใน 5 ตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Global Young Scientist Summit : GYSS) ประจำปี 2560 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 21 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

อาจารย์ ดร.พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา เป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนจิตรลดา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลนักเรียนเรียนดีที่โรงเรียนจิตรลดา เป็นประจำทุกปี จึงมีความมุมานะและพยายามตั้งใจเรียนตลอดในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนได้รับพระราชทานรางวัลเรียนดีจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 และสอบได้ทุนการศึกษาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี – เอก ที่ประเทศสหราชอาณาจักร

ขณะที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก อาจารย์ ดร.พงศธร ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนในวิชาพื้นฐานวิศวกรรมศาสตร์เคมี วิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการออกแบบโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารเคมี ซึ่งการสอนนี้ ทำให้เห็นคุณค่าของการทำงาน ได้รับความรู้ ช่วยให้มีความรับผิดชอบและเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 6 ผู้ช่วยสอนดีเด่นจากการคัดเลือกของนักศึกษา ได้รับรางวัลจาก Imperial College Student Union ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาปริญญาโท 4 คน และปริญญาตรีอีก 4 คน ที่สำคัญงานวิจัยในระดับปริญญาเอก “A study of the growth and hydrogen production of Cyanothece sp. ATCC 51142” ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 งานวิจัยตัวอย่างของ Energy Future Labs, Imperial College London ในหัวข้อ Sustainable Power อีกด้วย ทั้งยังได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของ Imperial College London นำเสนอผลงานวิจัยที่ห้องปฏิบัติการ Solar Hydrogen Project ต่อบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก อาจารย์ ดร.พงศธร ได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมเคมีและกระบวนการ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เนื่องจากเห็นว่า การสอนเป็นงานที่ท้าทาย มีอิสระ เป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ที่สำคัญการสอนนักศึกษาให้มีความรู้ ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง เป็นการให้โอกาสนักศึกษาได้มีความรู้เพื่อไปประกอบอาชีพ ขณะที่เราเป็นผู้ให้ความรู้ เราก็เรียนรู้จากนักศึกษาเช่นกัน บางครั้งได้รับคำถามที่น่าสนใจจากนักศึกษา ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

อาจารย์ ดร.พงศธร เล่าถึงวิธีการสอนว่า ใช้วิธีการสอนแบบบรรยายและให้ชมตัวอย่างจากสื่อวีดีทัศน์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่า ความรู้ที่กำลังจะเรียนในแต่ละวิชาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมจริงๆ อย่างไร และการพาไปดูของจริงที่ห้องแล็บ รวมทั้งใช้กระบวนการเรียนแบบ Problem Solving และการวิจัยควบคู่กัน โดยนำข้อมูลตัวเลขที่ได้จากการทำวิจัยมาให้นักศึกษาเรียนรู้และแก้ไขปัญหา เพราะองค์ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน จึงต้องหาความรู้ตลอดเวลาเพื่อนำมาสอนนักศึกษา

เนื่องจาก อาจารย์ ดร.พงศธร จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมเคมีและมีความสนใจทางด้านวิศวกรรมชีวเคมี พลังงานชีวภาพ การออกแบบกระบวนการผลิตทางชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ การขยายขนาดถังปฏิกรณ์ชีวภาพ และสาหร่ายขนาดเล็ก จึงได้ทำวิจัย เรื่อง การเพาะเลี้ยง Haematococcus pluvialis แบบมิกโซทรอฟ ในถังหมักแบบคอลัมน์โดยใช้กลีเซอรอลเป็นแหล่งอาหารจำพวกอินทรีย์คาร์บอน ได้รับทุนจากสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในระดับอุดมศึกษา (HERP) และการผลิตแอสตาแซนธินแบบต่อเนื่องโดยใช้สาหร่ายสีเขียว Haematococcus pluvialis ได้รับทุนจากบริษัท อิมพีเรียลแอสตาจำกัด ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยใกล้ชิดร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน ทำให้ได้มุมมองทางด้านการตลาด เศรษฐกิจและธุรกิจ ที่สำคัญผลจากการวิจัยสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดใช้ได้จริงโดยภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังได้เป็นผู้ร่วมโครงการวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมด้านการวิจัยอีกด้วย มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทางวารสารนานาชาติ จำนวน 11 เรื่อง และนำเสนอผลงานวิจัยระดับนานาชาติและระดับชาติ (แบบปากเปล่า) จำนวน 11 ครั้ง

นอกจากงานด้านการเรียนการสอนและงานวิจัยแล้ว อาจารย์ ดร.พงศธร ยังทำงานด้านการบริการวิชาการ เช่น เป็นผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการเพื่อสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (นิคมธุรกิจวิทยาศาสตร์ภูมิภาค) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 รอบที่ 2 และผู้พิจารณาคัดเลือกบทความทางวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ จำนวน 5 ฉบับคือ Algal Research, Journal of Biotechnology, Bioengineering and Biotechnology, Biochemical Engineering และ Journal Bioprocess and Biosystems Engineering

ในเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา อาจารย์ ดร. พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 นักวิทยาศาสตร์ตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม Global Young Scientist Summit (GYSS) ประจำปี 2560 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 21 มกราคม 2560 ณ สาธารณรัฐสิงค์โปร์ โดยอาจารย์ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับ GYSS ว่า เป็นการประชุมที่จัดขึ้น เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่ประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ผู้ได้รับเหรียญรางวัล Fields ผู้ได้รับรางวัล IEEE และรางวัล Millennium Technology เป็นต้น กับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ และเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์จริงของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระประสงค์ให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของไทย มีโอกาสเข้าร่วมประชุม GYSS โดยการคัดเลือก นิสิต นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยรุ่นใหม่ของไทย ที่มีศักยภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสมจากทั่วประเทศ และนำรายชื่อผู้ผ่านการสัมภาษณ์ จำนวน 10 คน ขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย จำนวน 5 คน เป็นตัวแทนประเทศไทย

“ผมได้สมัครเข้าร่วมโครงการ GYSS เพราะมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากศรัทธาในพระองค์ท่าน ที่สำคัญพระองค์ท่านเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจ ที่ทำให้ตนเองเดินมาถึงจุดนี้ได้ ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจอย่างสูง ดังนั้นจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้และประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการมาบอกเล่าให้อาจารย์และนักศึกษาได้รับฟัง เพื่อสร้างแรงบันดาลและแรงจูงใจให้แก่นักศึกษาในการไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อกลับมาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยต่อไป” อาจารย์ ดร. พงศธร เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวในตอนท้าย

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

Facebook Comments Box