logo

ขอแสดงความยินดีกับผศ.ดร. ทนงศักดิ์ อิ่มใจ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศบทความยอดเยี่ยมประจำปี 2019 จากวารสาร G&G

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ขอแสดงความยินดีกับ ผศ.ดร. ทนงศักดิ์ อิ่มใจ อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธาที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศบทความยอดเยี่ยมประจำปี 2019 คัดเลือกโดยผู้ทรงคุณวุฒิและกองบรรณาธิการ วารสาร Geotextiles and Geomembranes จากบทความวิจัยเรื่อง Performance of geosynthetic-reinforced flexible pavements in full-scale field trials ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Geotextiles and Geomembranes (Scopus Q1 / ISI Q1)

โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ทุนอาจารย์รุ่นใหม่ สกว.) และทุนแลกเปลี่ยนนักวิจัย Newton fund Travel Grant จาก British Council ประเทศอังกฤษ และได้รับความร่วมมือจากกรมทางหลวงในการก่อสร้างแปลงทดสอบ โดยผลการศึกษาในงานวิจัยนี้ทำการประยุกต์ใช้วัสดุสังเคราะห์เสริมแรงในครงสร้างถนนผิวทางแบบยืดหยุ่น จากแปลงทดสองขนาดจริงจำนวน 4 แปลง ซึ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ยาว 200 เมตร ในจังหวัดอุตรดิตถ์ และทำการตรวจวัดประสิทธิภาพการใช้งานทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อเนื่อง 5 ปี จากผลการศึกษา พบว่าการใช้วัสดุสังเคราะห์ในโครงสร้างชั้นทางแบบยืดหยุ่น ซึ่งสามารถลดปัญหาการเกิดร่องล้อของถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการวิเคราะห์ต้นทุน พบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษศาสตร์ ยังสามารถลดความถี่ของการซ่อมบำรุงโครงสร้างชั้นทางของกรมทางหลวง ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินในงานซ่อมบำรุงของกรมทางหลวงได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนงศักดิ์ สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา จาก University of Nottingham ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก Cardiff University และปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก University of Sheffield

ดร. ทนงศักดิ์ อิ่มใจ เป็นวุฒิวิศวกรโยธา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิเคราะห์และตรวจสอบอาคาร งานเสริมกำลังโครงสร้าง อันเนื่องจาก การใช้งาน การเสื่อมสภาพของวัสดุ หรืออุบัติภัยประเภทต่างๆ รวมถึงงานออกแบบโครงสร้างสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้มาตรฐานการออกแบบนานาชาติ เช่น ACI, BS standard, Eurocode, Model code ร่วมกับมาตรฐานภายในประเทศ เช่น วสท. และ มยผ. ในการวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้าง และใช้ แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ Finite Element Analysis (FEA) ในการวิเคราะห์โครงสร้างและตรวจสอบพฤติกรรมการรับน้ำหนักจริงของโครงสร้างในงานทางด้านการศึกษาวิจัยทางวิศวกรรมโยธา เช่น การตรวจสอบพฤติกรรมการเสริมกำลังโครงสร้างคอนกรีตที่วิบัติ โดยใช้วัสดุ FRP (Fiber Reinforced Plastics) รวมถึงการนำนวัตกรรมการก่อสร้างมาประยุกต์ใช้งานวิศวกรรมโยธา

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้วิจัยจึงเห็นถึงโอกาสในพัฒนาขีดความสามารถด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการผลักดันการนำเทคโนโลยีไปใช้สำหรับนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และนวัตกรรมเชิงสังคมในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป

ผู้เรียบเรียง : ผศ.ดร. วริษฐ์ วิปุลานุสาสน์

Facebook Comments Box