logo

ผศ.ดร.กิตติพงค์ คุณจริยกุล ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการวิจัย

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับ ผศ.ดร. กิตติพงค์ คุณจริยกุล ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธา ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านการวิจัยผลงานนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น ประเภท High quality publication (Q1) จากสถาบันวิจัยและนวัตกรรม

งานวิจัยเกี่ยวกับการนำของเสียได้แก่ เถ้าแกลบ และเถ้าชานอ้อย นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตคอนกรีตมวลเบาอบไอน้ำ โดยผลจากงานวิจัยนี้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการนำของเสียดังกล่าวไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์จริง ที่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ และยังสามารถนำพฤติกรรมที่ได้ไปประยุกต์ใช้หรือเป็นแนวทางในการพัฒนาของเสียชนิดอื่นๆ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตคอนกรีตมวลเบาอบไอน้ำได้ต่อไป ซึ่งคอนกรีตมวลเบาอบไอน้ำที่มีคุณสมบัติเหนือกว่าอิฐทั่วๆ ไป ในด้านความแข็งแรง คุณสมบัติการกันความร้อน กันเสียงและกันไฟ สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว สามารถนำไปใช้ได้ทั้งผนังภายในและภายนอก วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธาและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยได้ทำวิจัยหัวข้อ “การนำของเสียที่มีอลูมิเนียมปนเปื้อนและนำแกลบมาใช้ในการผลิตคอนกรีตมวลเบาอบไอน้ำ” จากนั้น ได้ทำงานวิจัยหลังปริญญาเอก สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร ในปี พ.ศ. 2559 

เมื่อถามถึงแรงจูงใจในการทำวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติพงค์ เล่าว่า ที่ผ่านมาได้เห็นมนุษย์ก่อของเสียให้เกิดขึ้นจำนวนมากมาย เกิดเป็นมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก จากเหตุผลนี้เอง จึงทำให้มีแนวคิดในการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่มีการนำของเสียมาใช้และพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนั่นคือ “วัสดุก่อสร้าง” ประกอบกับมีความชอบที่จะเห็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเหตุผลให้มีแนวคิดในการพัฒนาของเสียต่างๆ ให้สามารถมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ของวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งยังพัฒนาวัสดุก่อสร้างให้มีความสามารถที่มากกว่าเดิม เช่น กำลังอัด การเป็นฉนวนกันความร้อน การใช้พลังงานในการผลิตลดลง หรือการป้องกันรังสี เป็นต้น 

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีและคณะผู้วิจัยจึงเห็นถึงโอกาสในพัฒนาขีดความสามารถด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคมในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่อไป

บทความงานวิจัยที่ได้รับรางวัล(Click)

ผู้เรียบเรียง: ผศ.ดร. วริษฐ์ วิปุลานุสาสน์

Facebook Comments Box