วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโ,ยี เข้าร่วมกิจกรรม “อว.แฟร์” ส่วนภูมิภาค ภาคใต้ (ครั้งที่ 3) โดยพิธีเปิด “อว.แฟร์” ส่วนภูมิภาค ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ชู 6 ไฮไลท์ ปลุกจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจ ตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมโชว์ศักยภาพของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้การต้อนรับ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ” (อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND) ระดับภูมิภาค ภาคใต้ ซึ่งมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 4 – 6 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 – 19.00 น. โดยมี นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน พร้อมคณะผู้บริหาร บุคลากร นักเรียน นักศึกษา แขกผู้มีเกียรติ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมนับ 1,000 คน ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวว่า ในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภูมิภาค ภาคใต้ ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่งาน“มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ” (อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND) ระดับภูมิภาค ภาคใต้และขอขอบคุณท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่งาน อว.แฟร์ในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นที่ ม.วลัยลักษณ์ ในช่วงวันที่ 4-6 กรกฏาคม 2567 โดยมหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ได้ร่วมจัดแสดงบู๊ทหลักสูตรสำหรับทักษะในอนาคต อีกทั้งได้รับโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เข้ารับบริการจากกลุ่มมหาวิทยาลัยในเครือข่ายอุทยานวิทยศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ได้นำผลงานและผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการพัฒนาและบ่มเพาะด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมและมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้มาจัดแสดงในงาน ตลอดจนนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมใหม่ ๆ กิจกรรมการแสดง แสง สี เสียง รวมทั้งการแข่งขันทักษะความสามารถทางเทคโนโลยีของเยาวชนระดับมัธยมและอุดมศึกษา ซึ่งผมมีความเชื่อมั่นว่ากิจกรรมนี้จะสามารถสร้างความตระหนักให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ของภาคใต้ตอนบน ให้เห็นความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี



