logo

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวิทย์ วัฒนสกุลพงศ์ ได้รางวัล นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ติดอันดับ “ WORLD’S TOP 2%

Congratulations for the World's Top 2% Most-Cited Scientist

ขอแสดงความยินดีกับ รศ.ดร.ณัฐวิทย์ วัฒนสกุลพงศ์  หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเครื่องกลและหุ่นยนต์ เป็นนักวิจัยที่มีการอ้างอิงตลอดชีวิตการทำงานสูงที่สุด (Career-Long Citation Impact 2020) และนักวิจัยที่มีการอ้างอิงในปี ค.ศ. 2020 สูงที่สุด (Single Year Citation Impact 2020) ที่ได้รับการจัดอันดับใน TOP 2% แรกของโลก โดยมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา (Stanford University, USA) ปี 2021 ซึ่งรวบรวมข้อมูลผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำมากกว่า 100,000 คน

ผลงานวิจัยเด่น

ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์อยู่ในกลุ่มของการวิเคราะห์พฤติกรรมทางกลของวัสดุล้ำยุค (Mechanics of advanced composite materials) ซึ่งวัสดุนี้ใช้กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในอุตสาหกรรมทางด้านยานยนต์และวิศวกรรมทางด้านอวกาศ รวมถึงวิศวกรรมอื่นๆ การนำเอาวัสดุต่างชนิดมาผสมผสานจนได้วัสดุชนิดใหม่เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายจุดประสงค์ เป็นหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และในอนาคตการขยายขอบข่ายงานวิจัยไปจนถึงการคิดค้นวัสดุใหม่ที่มีส่วนผสมของวัสดุในกลุ่มนาโนก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ทั้งนี้การวิเคราะห์พฤติกรรมของวัสดุภายใต้ภาระโหลดทางกลแบบต่างๆ โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์หรือการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์ เพื่ออธิบายพฤติกรรมของวัสดุที่ถูกต้องและแม่นยำ นับว่ามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการศึกษาโดยการทดลองในห้องปฏิบัติกการ งานวิจัยในส่วนนี้มีความซับซ้อนมากต้องอาศัยความรู้ทั้งที่เคยเรียนมาและศึกษาเพิ่มเติมจากงานวิจัยของนักวิจัยท่านอื่นๆ เพื่อมาสังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่

Congratulations for the World's Top 2% Most-Cited Scientist

ความคาดหวังในอนาคต

เป้าหมายหลักต่อไป คือ แสวงหาความรู้และงานวิจัยใหม่ให้ทัดเทียมกับนักวิจัยทั่วโลก รวมถึงยกระดับงานวิจัยให้โดดเด่นมากขึ้น พยายามเปิดแนวคิดใหม่ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการและงานวิจัยในวงกว้าง นักวิจัยบางส่วนไม่ได้พิจารณาถึงการยกระดับงานวิจัย เช่น ตอนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก็ทำงานวิจัยระดับหนึ่งประมาณหนึ่ง แต่พอจะก้าวไปที่ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ก็ยังคงทำงานวิจัยอยู่ในระดับเดิมเพียงแต่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่ามีความก้าวหน้าทางวิชาการ อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เป้าหมายสำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่าการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีความสามารถทัดเทียมหรือสูงกว่าตัวเราเอง

การเป็นนักวิจัยชั้นแนวหน้าไม่ได้เป็นได้ทุกคนถึงแม้ว่าจะได้รับการฝึกฝนมาจากครูคนเดียวกัน หลายคนอาจตกขบวนแห่งความฝันได้โดยง่ายหากความมุ่งมั่นไม่มากพอ การวางยุทธศาสตร์ของการวิจัยเป็นสิ่งที่สอนกันไม่ได้เพราะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ไหวพริบปฏิพานของนักวิจัย เพราะฉะนั้นการทำวิจัยไม่ได้แค่เพียงทำงานวิจัยได้แต่ต้องทำงานวิจัยเป็นด้วย

Facebook Comments Box