ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) และ ดร.ศิริศักดิ์ สุขสุจริตพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกัน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อการศึกษาและพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการองค์ความรู้ และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมถ่านกัมมันต์ โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาถ่านกัมมันต์จากไม้และชีวมวล รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ธานี เจิมวงค์รัตนชัย ผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกศรา เสนีย์ศรีสกุล รักษาการแทนหัวหน้าสาขาปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ คณาจารย์และบุคลาการทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันเป็นสักขีพยานการลงนามทางออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีกล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เปิดหลักสูตร ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นหลักสูตรปรับปรุงใหม่และอยู่ภายใต้การดำเนินงานของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ความคาดหวังของหลักสูตร คือ มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพสูง เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศและตามทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มุ่งเน้นการวิจัยและงานบริการวิชาการ เพื่อขยายผลสู่ภาคอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม จึงเห็นสมควรให้กำหนดข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการร่วมกับบริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำถ่านกัมมันต์ที่ใช้งานแล้วเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมถึงการพัฒนาการผลิตถ่านกัมมันต์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ กะลามะพร้าว แมคคาเดเมีย อันจะนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการพัฒนา ตลอดจนสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักวิจัยระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนากำลังคน รวมถึงกิจกรรมที่เชื่อมโยงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานในปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่พลังงานสะอาด เช่น พลังานไฟฟ้า ดังนั้น อุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า เช่น ตัวเก็บประจุยิ่งยวด หรือแบตเตอรี่ จึงมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการมากขึ้น และตัวแปรสำคัญที่จะได้มาซึ่งอุปกรณ์กักเก็บประสิทธิภาพสูงคือวัสดุขั้วอิเล็กโทรด ซึ่งถ่านกัมมันต์ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นขั้วอิเล็กโทรด และปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดมาจากต่างประเทศ ซึ่งทำจากขี้เลื่อยไม้สนและมีราคาประมาณกิโลกรัม ละ 2,500 บาท โดยมูลค่าตลาดทั่วโลกของถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดในปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ดังนั้นประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีชีวมวลอยู่ในปริมาณมาก เช่น ไม้ยางพารา ยูคาลิปตัส ปาล์มน้ำมัน ไผ่ มะพร้าว เป็นต้น จึงมีศักยภาพสูงพอที่จะสามารถผลิตถ่านกัมมันต์เกรดตัวเก็บประจุยิ่งยวดเองได้ อันจะเป็นการลดการนำเข้า เพิ่มมูลค่าถ่านกัมมันต์ และสามารถผลิตส่งออกได้ ทั้งนี้การพัฒนาดังกล่าว ยังตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนและเป็นการเพิ่มพลวัตรให้กับอุตสาหกรรมถ่านกัมมันต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ย้อนกลับสู่เกษตรกร เนื่องมาจากอุปสงค์และราคาไม้ยางพาราที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์แบบเกื้อกูลระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบยั่งยืนได้

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวัสดุชีวภาพและการสังเคราะห์วัสดุชีวภาพมูลค่าสูง ในสาขาวิชาปีโตรเคมีและพอลิเมอร์ ภายใต้สังกัดสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีและได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านไม้และวัสดุชีวภาพ เพื่อดำเนินงานวิจัยทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีไม้และวัสดุชีวภาพ และจากการดำเนินงานวิจัยและงานบริการวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยจึงมีความพร้อมในการขยายงานสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง
“พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และบริษัท ไร้ท์ รีแอคติเวชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการร่วมมือระหว่างบริษัทธุรกิจเอกชน และสถาบันการศึกษาในด้านการศึกษาและพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการองค์ความรู้ และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมถ่านกัมมันต์ โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาถ่านกัมมันต์จากไม้และชีวมวล รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในกิจกรรมอื่นซี่งจะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.wu.ac.th/th/