logo

อธิการบดีมอบช่อดอกไม้และอวยพรนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ T-Union Entrepreneurship Competition ประเทศไต้หวัน

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้พรและมอบช่อดอกไม้แก่นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกขั้นต้นให้เข้าร่วมโครงการ T-Union Entrepreneurship Competition ที่ National TsingHua University (NTHU) ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นนักศึกษาที่เป็นผลผลิตจากโครงการ Startup Thailand League 2017 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 15/2 อาคารบริหาร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิยม กำลังดี รักษาการแทนผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณาจารย์ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่และนักศึกษาผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วม

การเข้าร่วมโครงการ T-Union Entrepreneurship Competition ที่ National TsingHua University (NTHU) ประเทศไต้หวัน ในครั้งนี้ มีตัวแทนนักศึกษาจากโครงการ Startup Thailand League 2017 จำนวน 2 ทีม ได้แก่ ทีม NAKED-EYE ชุดทดสอบคัดกรองภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD โดย นางสาวรุ่งนภา กรีทอง สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และนางสาวกมลทิพย์ วงศ์สุวรรณ สำนักวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร โดยมี อาจารย์ ดร.อรวรรณ สารกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และทีม HandHelp แอพพลิเคชั่นล่าม ให้คนทั่วไปและผู้บกพร่องทางการได้ยินสามารถสื่อสารเชื่อมโยงความคิด ความรู้สึกถึงกันได้ โดย นางสาวฏอฮีเราะฮ์ ฮูซัยนี สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ และนายประสิทธิ์ แซ่อุย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร โดยมี อาจารย์ ดร.กรัณรัตน์ ธรรมรักษ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยจะเดินทางไปเข้าแคมป์ และคัดเลือกรอบที่ 2 ที่ NTHU ร่วมกับนักศึกษาจากอิสราเอล สิงคโปร์ อเมริกา เกาหลี จีน และไต้หวัน ในระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2561นี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมทำให้โครงการ Startup ของ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประสบความสำเร็จและในอนาคตจะขยายให้มีพลังมากกว่านี้ ด้วยการประกาศเชิญชวนให้นักศึกษาที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ เมื่อผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการ มหาวิทยาลัยจะให้งบประมาณไปทำการพัฒนา สนับสนุนให้ความคิดกลายเป็นความจริง ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นสอนให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถจบไปเป็นผู้ประกอบการเองได้ในอนาคต ช่วยชาติสร้างงาน เป็นนายจ้างที่มีคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยอาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แนะนำ สอนให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักศึกษาทั้ง 4 คน ที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย ไปร่วมโครงการครั้งนี้ขอให้ทำให้เต็มที่ในนามของประเทศไทย และในนามของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต้องขอบคุณที่ทุกคนจะไปทำชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และไม่อยากให้หยุดแค่นั้น ต่อไปสำเร็จเป็นบัณฑิตแล้วคงสามารถสร้างเป็นนวัตกรรมได้เลย นี่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนา ขอให้มีความสำเร็จมากยิ่งขึ้นและเดินทางไปกลับปลอดภัยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิยม กำลังดี รักษาการแทนผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการ T-Union Entrepreneurship Competition ที่ National TsingHua University (NTHU) ประเทศไต้หวัน ในครั้งนี้ เป็นโครงการต่อยอดมาจากโครงการของรัฐบาลโดยกระทรวงวิทย์ฯ ที่ต้องการสนับสนุน Startup ของไทย โดยทางอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย NTHU เพื่อส่งนักศึกษาทั้ง 2 ทีม ซึ่งมีผลงานในโครงการ Startup ที่โดดเด่น มีความเป็นสากล ให้ผ่านเข้าไปร่วมแคมป์ในโครงการนี้ และหากผ่านเข้ารอบจะได้รับทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประมาณ 3 แสนเหรียญไต้หวันและมีโค้ชจากประเทศไต้หวันมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเข้าร่วมโครงการในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ทำ Startup มือ 1 ของโลกต่อไป

นางสาวฏอฮีเราะฮ์ ฮูซัยนี สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ และนายประสิทธิ์ แซ่อุย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร จากทีม HandHelp แอพพลิเคชั่นล่ามให้คนทั่วไปและผู้บกพร่องทางการได้ยินสามารถสื่อสารกันได้ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างแอพพลิเคชั่นล่ามตัวนี้มาจากการตระหนักถึงปัญหาหนึ่งในสังคมของเรา ที่มีผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การพูดคุยติดต่อสื่อสารกับคนปกติทั่วไปเป็นไปด้วยความยากลำบาก ผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะช่วยลดช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างคนปกติและผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินให้สามารถพูดคุย ติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้เขาเหล่านั้นสามารถใช้ชีวิตได้เช่นคนปกติ มีความสุขในชีวิตมากยิ่งขึ้น และยิ่งรู้สึกดีมากที่สิ่งที่พวกเราคิด วาดฝันไว้จะสามารถออกมาเป็นรูปร่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถช่วยให้การสื่อสารของผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินกับคนปกติทั่วไปง่ายกว่าการใช้ภาษามือ และรู้สึกภาคภูมิใจที่ผลงานสามารถผ่านเข้าไปเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย ไปแสดงความสามารถให้เพื่อนๆนักศึกษาจากหลายๆมหาวิทยาลัยทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยต่อไป

นางสาวรุ่งนภา กรีทอง สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ และนางสาวกมลทิพย์ วงศ์สุวรรณ สำนักวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร จากทีม NAKED-EYE ชุดทดสอบคัดกรองภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD กล่าวว่า ทีมของเราได้พัฒนาชุดทดสอบคัดกรองภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เด็กเกิดอาการตัวซีดเหลือง เป็นภาวะที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าหรือรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันได้ ถ้าได้รีบการตรวจพบและทำการรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศ สามารถตรวจหาภาวะพร่องเอนไซต์ G6PD นี้ได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลานาน มีกระบวนการที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนและต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการตรวจ จึงเป็นที่มาขอการคิดค้นชุดทดสอบตัวนี้ที่จะช่วยลดระยะเวลา ขั้นตอนและไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษอื่นในในการตรวจ ทางทีมรู้สึกโชคดีอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพราะนอกจากจะมีหลายสาขาวิชาให้เลือกเรียนแล้ว ที่นี่ยังมีห้องปฏิบัติการ ห้องทดลองที่ทันสมัย มีความพร้อมในการเรียน ให้ผู้ที่มีไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ได้คิดค้นทำสิ่งใหม่ๆได้อย่างสะดวก ถือเป็นข้อดีในการเรียนรู้และต่อยอดความคิด ที่ไม่ใช่แค่เรียนด้านวิชาการเพื่อมุ่งหวังที่จะได้เพียงใบปริญญาอย่างเดียว

ประมวลภาพ

Facebook Comments Box