logo

นักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ เจ๋ง คว้ารางวัลจากงานวิจัยแห่งชาติ 2564

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนงศักดิ์ อิ่มใจ จาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หนึ่งในคณะวิจัย โครงการ “การศึกษาตรวจวัดอำนาจการทำลายของรถบรรทุกไทยและพฤติกรรมการรับน้ำหนักของโครงสร้างถนนกรมทางหลวง” โดยมี ดร. อัคคพัฒน์ สว่างสุรีย์ จากสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นตัวแทนเข้ารับรางวัล จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2564 เมื่อเร็วๆนี้ ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่งาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนงศักดิ์ อิ่มใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนงศักดิ์ สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา จาก University of Nottingham ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก Cardiff University และปริญญาเอกสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก University of Sheffield ดร. ทนงศักดิ์ อิ่มใจ เป็นวุฒิวิศวกรโยธา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานวิเคราะห์และตรวจสอบอาคาร และใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ Finite Element Analysis (FEA) ในการวิเคราะห์โครงสร้างและตรวจสอบพฤติกรรมการรับน้ำหนักจริงของโครงสร้างในงานทางด้านการศึกษาวิจัยทางวิศวกรรมโยธา เช่น การตรวจสอบพฤติกรรมการเสริมกำลังโครงสร้างคอนกรีตที่วิบัติ โดยใช้วัสดุ FRP (Fiber Reinforced Plastics) รวมถึงการนำนวัตกรรมการก่อสร้างมาประยุกต์ใช้งานวิศวกรรมโยธา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนงศักดิ์ เปิดเผยถึงโครงการวิจัย “โครงการ การศึกษาตรวจวัดอำนาจการทำลายของรถบรรทุกไทยและพฤติกรรมการรับน้ำหนักของโครงสร้างถนนกรมทางหลวง” ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2560 โดยร่วมวิจัยกับ สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับเชิญเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์แบบจำลองไฟไนท์อิลิเมนต์สำหรับโครงการวิจัย โดยมีการนำผลการตรวจวัดภาคสนามแบบระยะสั้นและระยะยาวมาทำการเปรียบเทียบผลจาการวิเคราะห์แบบจำลองเชิงตัวเลข สืบเนื่องจากปัจจุบันกรมทางหลวงยังขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ด้านพฤติกรรมการตอบสนองของโครงสร้างถนน (Pavement Response) อันเกิดจากแรงกระทำของน้ำหนักรถบรรทุกและปัจจัยภายนอกต่างๆ รวมทั้งข้อมูล ด้านสมรรถนะและอายุบริการทางหลวง (Highway Performance) ภายใต้สภาพการใช้งาน เงื่อนไขและ บริบทของประเทศไทย โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการต่อเนื่องในปีที่ 2 เพื่อพัฒนาต่อยอดผลการศึกษาวิจัยในปีที่ 1 ประกอบด้วย 1) การพัฒนาและปรับปรุงแบบจำลองสำหรับทำนายสมรรถนะและอายุบริการทางหลวง 2) การติดตาม เก็บบันทึก และประเมินผลข้อมูลการตอบสนองของโครงสร้างถนนต่อเนื่องในระยะยาว (Long-term Performance Monitoring) และ 3) การติดตั้งระบบเครื่องมือตรวจวัดแบบฝังในโครงสร้างถนนและ ระบบประมวลผลข้อมูลภาคสนามเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มมิติด้านพื้นที่ ด้านระยะเวลาการตรวจวัด และด้านข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อใช้สนับสนุนการวิเคราะห์พฤติกรรมการตอบสนองของโครงสร้างถนน และ ปรับปรุงแบบจำลองสำหรับทำนายสมรรถนะและอายุบริการทางหลวง ให้เป็นปัจจุบัน มีความน่าเชื่อถือ และ นำไปใช้ออกแบบก่อสร้าง บำรุงรักษา และบูรณะทางหลวงได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทนงศักดิ์ กล่าวว่าแบบจำลองที่พัฒนาขึ้นในโครงการสามารถใช้ในการทำนายสมรรถนะและอายุบริการทางหลวงภายใต้สภาพการใช้งาน เงื่อนไขและ บริบทของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นแนวทางการประยุกต์ใช้แบบจำลองสำหรับทำนายสมรรถนะและอายุบริการทางหลวงในการออกแบบก่อสร้าง บำรุงรักษา และบูรณะทางหลวง ต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม https://nriis.nrct.go.th/

Facebook Comments Box