logo

ม.วลัยลักษณ์ จัด KM เพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ และมหาวิทยาลัยภาคใต้เพื่อรองรับการเรียนการสอนแบบ WiL

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานพิธีเปิดและแสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเครือข่ายสถานประกอบการและสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยที่เน้นถ่ายทอดมุมมอง ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ (KM) ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้เพื่อการรองรับการเรียนการสอนในรูปแบบ Work-Integrated Learning (WiL) ซึ่งจัดโดย โครงการศูนย์พันธกิจสัมพันธ์เพื่อสังคม สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโนราบีช รีสอร์ทแอนสปา โรงแรมโนราบุรี รีสอร์ทแอนด์สปา และโรงแรมแฟร์เฮ้าบีชรีสอร์ทแอนด์สปา อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ และนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 12 สถาบัน เข้าร่วม รวมทั้งสิ้น 32 คน

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อรองรับการเรียนการสอนแบบ Work-Integrated Learning (WiL) เพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้จากในห้องเรียนสู่การปฏิบัติจริง ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติควบคู่กันไป ซึ่งแนวความคิดนี้ต่างกับ Work-based Learning และสหกิจศึกษาเล็กน้อย นั่นคือสหกิจศึกษาจะเน้นส่งนักศึกษาไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ และขอให้ผู้ปฏิบัติงานเป็นพี่เลี้ยง แต่ WiL มีความหมายลึกซึ้งมากกว่า คือ ให้ผู้ประกอบการนำความรู้จากสถานประกอบการมาเติมเต็มให้กับนักศึกษา อีกทั้งผู้ประกอบการจะทำหน้าที่การสอนเป็นกิจจะลักษณะ มีชั่วโมงปฏิบัติก็ได้ปฏิบัติจริงตามที่ได้มอบหมายกันไว้ ทำให้นักศึกษาของเราจะได้ความรู้ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งในทางปฏิบัติและทางทฤษฎี

“หลังจากที่ได้มีการพบปะพูดคุยกับสถานประกอบการบนเกาะสมุย พบว่า ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการเป็นอย่างดี ซึ่งผลสะท้อนจากสถานประกอบการมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก โดยในปีนี้มีสถานประกอบการสนใจร่วมในโครงการมากกว่า 50 แห่ง แต่มหาวิทยาลัยรองรับได้เพียง 35 แห่ง อย่างไรก็ตาม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ คาดว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะได้ร่วมมือ ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์และก้าวไปพร้อมกัน และในอนาคตโครงการนี้จะยิ่งเติบโต มีความมั่นคง และสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและพื้นที่ของแต่ละสถาบันต่อไป เพื่อพัฒนาทักษะ ศักยภาพ การแข่งขัน และการได้งานทำอย่างมั่นคงของนักศึกษาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการของประเทศต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร. ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าว

ด้าน อาจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี รองคณบดีสำนักวิชาการจัดการ ในฐานะหัวหน้าโครงการการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการและมหาวิทยาลัยในภาคใต้เพื่อรองรับระบบการเรียนการสอนแบบ Work-integrated Learning (WiL) กล่าวถึงประเด็นที่นำมาใช้เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างเครือข่ายสถานประกอบการและสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ร่วมกันครั้งนี้ประกอบด้วย 1) ทิศทาง “การขับเคลื่อนเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้” 2) การถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM) “สมุยโมเดล : โครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน (Work-based Learning: WBL)” โดย อาจารย์สุนทร บุญแก้ว หัวหน้าโครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน (Work-based Learning: WBL) อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ 3) กิจกรรมเสวนาเรื่อง “จากแนวคิดโรงเรียนในโรงงาน … สู่โรงเรียนในโรงแรม โดยครูวิชาชีพ (Meister) และการอำนวยการจัดการเรียนการสอนในสภาพแวดล้อมจริง” ร่วมเสวนาโดย คุณสุภาวดี พูนพันธุลาภ Executive Housekeeper โรงแรม Nora Beach Resort & Spa คุณสิทธิชัย แซ่ภู่ Executive Chef โรงแรม Nora Beach Resort & Spa และคุณศิราณี อนันตเมฆ กรรมการผู้จัดการ บริษัท The Glory Worldwide Travel ในฐานะ Meister หรือครูในสถานประกอบการ และนำเสวนาโดย อาจารย์สุนทร บุญแก้ว หัวหน้าโครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน 4) การเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้วิชางานฝ่ายห้องพัก – แผนกแม่บ้าน ภายใต้โครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐานที่โรงแรม Nora Beach Resort & Spa 5) การถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ “การบูรณาการการเรียนกับการทำงานภายใต้โครงการสหกิจศึกษาเชิงพื้นที่ (Andaman Based Cooperative Education : ABC)” โดย อาจารย์ปวิธ ตันสกุล หัวหน้าโครงการ Andaman Based Cooperative Education : ABC – PHUKET อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ

6)การเข้าร่วมสังเกตการณ์การทำ Work-based Learning Workshop ครั้งที่ 1 ของนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน รุ่นที่ 5 จำนวน 100 คน ณ โรงแรมแฟร์เฮ้าส์บีชรีสอร์ทแอนด์สปา โดยมีอาจารย์สุนทร บุญแก้ว หัวหน้าโครงการฯ อาจารย์ ดร. เยี่ยมดาว ณรงคะชวนะ อาจารย์ ดร.สุขุมาล กล่ำแสงใส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรอนงค์ เฉียบแหลม อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ และคุณเจริญ รุ่งเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มโรงแรม Nora Hotels & Resorts คุณกฤษณา พรหมเกาะ กรรมการผู้จัดการโรงแรม Lamai Wanta Beach Resort และ คุณวรรณา วิวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการเรียนรู้และทรัพยากรบุคคล โรงแรม Belmond Napasai ในฐานะครูวิชาชีพ (Meister) ในวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเน้นรับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์กับนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ที่ผ่านประสบการณ์ทำงานมาแล้ว 1 อาทิตย์ 7) การเสวนาในหัวข้อ “Work-integrated Learning (WiL) & Thailand 4.0 : Curriculum Design, Engagement and Employability” ร่วมเสวนาโดย อาจารย์ ดร.อลงกรต ยะไวทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Work-integrated Learning ประเทศไทย ผู้อำนวยการศูนย์สหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จังหวัดนครราชสีมา และอาจารย์ศักดิ์ชัย ปิ่นเพ็ชร ที่ปรึกษาอธิการบดี ด้าน Work-integrated Learning วิทยาลัยดุสิตธานี ดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์สุนทร บุญแก้ว และ8)การเข้าร่วมกิจกรรมพิธีเปิด การลงนามข้อตกลง (MOA) เพื่อสนับสนุนโครงการเรียนรู้โดยใช้การทำงานเป็นฐาน รุ่นที่ 5 และการปฐมนิเทศนักศึกษาโดยตัวแทนผู้บริหารจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและศิษย์เก่าที่ผ่านโครงการ ที่โรงแรมโนราบุรีรีสอร์ทแอนด์สปา

ทั้งนี้ 12 สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วม ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง – วิทยาลัยการโรงแรมและการท่องเที่ยว วิทยาลัยชุมชนระนอง วิทยาลัยชุมชนสตูล มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ประมวลภาพ

ข่าวและภาพโดยนายธีรพงศ์ หนูปลอด ส่วนสื่อสารองค์กร

 

Facebook Comments Box