logo

ส.วิศวะฯ มวล. คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการนำเสนอกลยุทธ์ RECLER ในกิจกรรม iREP2025

สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมกิจกรรม iREP2025 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์กิจการนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอแนวทางการยกระดับงานด้านความเป็นนานาชาติของแต่ละสำนักวิชา โดยในครั้งนี้ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ RECLER ซึ่งเป็นโมเดลที่ออกแบบขึ้นเพื่อผลักดันชื่อเสียงของสำนักวิชาในเวทีระดับสากล โดยมุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติได้จริงในทุกมิติ
กิจกรรมได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ให้เกียรติเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอของแต่ละสำนักวิชา พร้อมให้แนวทางและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อการขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติ

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ไหมศรีกรด และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทร์นรินทร์ ศุภกร ผู้อำนวยการศูนย์กิจการนานาชาติ ซึ่งได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้แต่ละสำนักวิชาร่วมกันพัฒนากลยุทธ์ด้านนานาชาติในบริบทของตนเอง พร้อมทั้งสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

ในโอกาสนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมให้ข้อเสนอแนะเชิงวิชาการ ได้แก่
• Dr. Lai Soon Onn – Universiti Tunku Abdul Rahman (UTAR)
• Professor Ir. Dr. Hazlee Azil Illias – University of Malaya (UM)
• Prof. Sr. Ts. Dr. Adi Irfan Che Ani – Universiti Kebangsaan Malaysia (UKM)
• Dr. Siti Rahyla Rahmat – Universiti Sains Malaysia (USM)

ในการนำเสนอครั้งนี้ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีได้เสนอโมเดล RECLER ซึ่งครอบคลุม 6 แนวทางหลัก ได้แก่
• R – Research: การจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ การสร้างความร่วมมือวิจัยระยะยาว และการพัฒนาเครือข่ายทุนวิจัยจากแหล่งภายนอก เช่น NRCT, Horizon Europe, JSPS
• A – Ambassadorship: การจัดตั้งโครงการ Student Ambassador ที่มีการอบรมอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าระดับนานาชาติ
• C – Curriculum: การปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติ เช่น ABET, EUR-ACE และการมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมในการทบทวนหลักสูตร
• L – Learning: การใช้รูปแบบแลกเปลี่ยนแบบ hybrid เพื่อลดค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการยกระดับศักยภาพของคณาจารย์ด้าน digital pedagogy
• E – Employer Engagement: การจัดทำความร่วมมือด้านสหกิจศึกษาระยะยาว และการร่วมกันพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรหรือ micro-credentials ที่ตอบโจทย์ตลาด
• R – Reputation: การจัดทำแผนการสื่อสารระยะยาวเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ระดับนานาชาติ การอบรมอาจารย์และเจ้าหน้าที่ด้าน academic branding และการปรับปรุงข้อมูลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

ด้วยวิสัยทัศน์และแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน คณะกรรมการจึงมีมติให้ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดการนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในกิจกรรม iREP2025
กิจกรรมนี้นับเป็นโอกาสสำคัญที่เปิดให้สำนักวิชาได้แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานกับผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติ พร้อมรับข้อเสนอแนะเชิงลึก เพื่อนำไปต่อยอดการพัฒนาด้านความเป็นนานาชาติของสำนักวิชาในระยะยาว
Facebook Comments Box